ขั้นตอนการผ่านพิธีการศุลกากรของเร่งด่วนขาเข้า ณ เขตปลอดอากร ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ปัจจุบันมีการนำเข้าสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรไทยผ่านทางผู้ให้บริการขนส่งสินค้าและพัศดุภัณฑ์ โดยผู้นำเข้าอาจจะเป็น ผู้นำเข้ารายใหม่ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในการนำเข้าสินค้ามาก่อน (First Time Importer) อาทิเช่น ผู้ที่สั่งสินค้าจาก
ต่างประเทศในระบบออนไลน์ (e-Commerce) หรือ นักท่องเที่ยวที่ส่งของถึงตนเอง ทำให้อาจประสบปัญหาจากการที่ไม่เข้าใจวิธีการและ พิธีการต่างๆ ที่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่ได้กำหนดไว้ เช่น กฎหมายศุลกากร เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ ทางส่วนบริการศุลกากร 3 สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จึงได้จัดทำคำอธิบายพร้อมภาพประกอบ ให้บุคคลทั่วไปได้ทราบ
การจัดประเภทของเร่งด่วนขาเข้า สามารถจัดแบ่งได้ 4 ประเภท ¹
ประเภทที่ 1 เอกสารที่ไม่ต้องเสียอากร ตาม ภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้า แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 และไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด
ประเภทที่ 2 ของไม่ต้องเสียอากร หรือของที่ได้รับยกเว้นอากร โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
2.1 ของที่ไม่ต้องเสียอากรตามภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้าแห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 และไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด
2.2 ของที่นำเข้าซึ่งแต่ละรายมีราคาซีไอเอฟไม่เกิน 1,500 บาท ที่ได้รับยกเว้นอากร ตามประเภท 12 ภาค 4 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 และไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด
2.3 ตัวอย่างสินค้าที่ใช้ได้แต่เพียงเป็นตัวอย่างและไม่มีราคาในทางการค้า ที่ได้รับยกเว้นอากรตามประเภท 14 ภาค 4 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 และไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด
ประเภทที่ 3 ของต้องเสียอากร ที่นำเข้าทางสนามบินศุลกากรโดยแต่ละใบตราส่งสินค้าทางอากาศ (House Air Waybill) มีราคา FOB (Free On Board) ไม่เกิน 40,000 บาท และไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด หรือของที่ได้รับยกเว้นอากรตามภาค 4 หรือของที่ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร หรือของที่ต้องส่งตัวอย่างวิเคราะห์สินค้าก่อนปล่อย
ประเภทที่ 4 ของอื่นๆ นอกจากของตามประเภทที่ 1 ประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3
กระบวนการทางศุลกากรเกี่ยวกับของเร่งด่วนขาเข้า
1. ความรับผิดในอันจะต้องเสียค่าภาษี สำหรับของเร่งด่วนขาเข้าเกิดขึ้นในเวลาที่อากาศยานที่นำของเข้าได้มาถึงสนามบินศุลกากร
2. ค่าขนส่งของที่ใช้กำหนดราคาศุลกากรในการปฏิบัติพิธีการศุลกากร สำหรับของเร่งด่วน ให้ปฏิบัติตามลำดับ ดังนี้
2.1 ใช้ค่าขนส่งตามที่ปรากฏในบัญชีราคาสินค้า (Invoice) หรือหลักฐานการจ่ายค่าขนส่งของดังกล่าว
2.2 ในกรณีบัญชีราคาสินค้า (Invoice) ไม่มีค่าขนส่งของหรือไม่มีเอกสารหลักฐานการจ่ายค่าขนส่งของ ให้ใช้อัตราค่าระวางบรรทุกทางอากาศยานเฉลี่ยตาม Zone ที่กรมศุลกากรประกาศให้ใช้สำหรับของเร่งด่วน เป็นเกณฑ์ในการกำหนดราคาศุลกากร
กรณีมีเหตุสงสัยในความถูกต้องของค่าขนส่งของ สามารถขอหลักฐานการชำระค่าขนส่งของดังกล่าวจากผู้นำของเข้าหรือผู้ขนส่งได้
เราจะได้รับอีเมล์หรือโทรจากนายตรวจศุลกากร ให้ตรวจสอบก่อนว่าสินค้าเราติดปัญหาเรื่องใดกับเจ้าหน้าที่ศุลกากร เช่น ปัญหาด้านการสำแดงราคาสินค้าต่ำ,ปัญหาด้านพิกัดอัตราศุลกากร,ปัญหาเรื่องใบอนุญาต เช่น อย. กสทช. มอก.,ปัญหาด้านการแสดงข้อมูลสินค้าไม่ถูกต้อง หากได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่โดยตรงจะดีมากๆ
จากนั้นให้ชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ตามความจริงและประสานส่งเอกสาร/หลักฐานต่างๆเพื่อสำแดง หรือถ้าไม่อยากยุ่งยาก มีบริษัทชิปปิ้งที่ประสานกับเจ้าหน้าที่ในเวปไซต์ อย่าล่าช้านะครับ ค่าวางสินค้าที่ติดด่านศุลกากร วันละ 500 บาท อย่าเสียเวลาถ้าไม่จำเป็น